ข่าวประชาสัมพันธ์

ข่าวสาร ฝ่ายวิจัย


นายกรัฐมนตรีเน้นให้โครงการขนาดใหญ่ของรัฐต้องใช้นวัตกรรมไทย เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน พร้อมเร่งรัดปรับปรุงกระบวนการส่งเสริมนวัตกรรมผ่านมาตรการภาษีให้คล่องตัวกว่าเดิม

13/02/2015
อ่าน : 673 ล่าสุด : 2015-02-16 10:24:43


เมื่อวันที่  13 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 15.30 น. ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ ครั้งที่ 1/2558 เพื่อหารือแนวทางการจัดการและพัฒนาระบบนวัตกรรมของไทย ในการแก้ไขปัญหาความทับซ้อนของหน่วยงาน การมีผลงานวิจัยที่ยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์จำนวนมาก รวมถึงการขาดกลไกการเชื่อมโยงระหว่างผลงานวิจัยและนวัตกรรมกับการแปลงผลงานไปสู่เชิงพาณิชย์ที่เป็นตัวขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของไทย รวมทั้งการสร้างตลาดภาครัฐเพื่อรองรับนวัตกรรมที่พัฒนาโดยภาคเอกชน ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ทำให้ประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลาง และไม่สามารถก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีรายได้สูงได้

ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอการพัฒนาระบบนวัตกรรมไทย เพื่อศึกษาสถานภาพ ปัญหา มาตรการเร่งด่วน และจัดทำข้อเสนอแนะการพัฒนาระบบนวัตกรรมไทย ตลอดจนกลไกการเชื่อมโยงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศและตลาดภาครัฐ เข้ากับการพัฒนาความเข้มแข็งของภาคการผลิตและบริการ เพื่อเพิ่มผลิตภาพของผู้ประกอบการไทยให้แข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างยั่งยืน และมุ่งสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยจัดตั้งโครงการวิจัยขนาดใหญ่ (Grand Challenges) ที่มีพลังร่วมกันระหว่างนักวิจัยทั่วประเทศ และร่วมกับต่างประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการนำพาประเทศไทยไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้เกิดการค้ำจุนกัน และสร้างสรรค์สังคมไทย โดยได้แต่งตั้ง ศาสตราจารย์ ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมเป็นอนุกรรมการฯ

สำหรับมาตรการเร่งด่วนที่สามารถดำเนินการได้ทันที ที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับปรุงกระบวนการให้สิทธิประโยชน์ผ่านมาตรการภาษีเพื่อการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมให้คล่องตัวขึ้น โดยให้การรับรองบริษัทเอกชนแทนการรับรองรายโครงการ ทั้งนี้ มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล) รับไปดำเนินการร่วมกับกระทรวงการคลัง และเห็นชอบใน หลักการให้เร่งรัดการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาสำหรับเงินบริจาคเข้ากองทุนที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมให้รวดเร็วขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรับผิดชอบสังคมของภาคเอกชน ลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับความสามารถของ SME ชุมชน และสังคมผ่านงานวิจัย ที่ช่วยทำให้บรรลุเป้าหมายในการเพิ่มค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาเป็น 1% ของ GDP

ในส่วนของการสร้างตลาดนวัตกรรมภาครัฐ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการนำผลงานวิจัยและพัฒนามาใช้ประโยชน์ภาคเศรษฐกิจ แต่จำเป็นต้องใช้เงินทุนมหาศาล เพื่อลด “งานวิจัยขึ้นหิ้ง” และเพิ่มช่องทางให้มีหน่วยงานที่เป็นผู้ซื้อหรือรับผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะทำงานกำหนดความต้องการของภาครัฐที่สามารถใช้สินค้าและนวัตกรรมไทยทำงานขนานกับคณะทำงานจัดทำข้อเสนอนโยบายการสร้างตลาดสินค้านวัตกรรมในหน่วยงานภาครัฐ โดยมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ เพื่อให้มีการดำเนินมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขระเบียบพัสดุ พ.ศ. 2535 ของสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเห็นควรให้ระบุสินค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐานภายในประเทศ สามารถจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่มีราคาเกิน 100,000 บาท ได้โดยตรงผ่าน “วิธีพิเศษ” ให้ครอบคลุมถึงพัสดุหรือสินค้าที่มีการทำนวัตกรรมในประเทศที่มีสมรรถนะเชิงเทคนิคตรงตามการใช้งาน มีมาตรฐานเทียบเคียง มีความปลอดภัย และเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานราชการ นอกจากนี้ เพื่อเป็นมาตรการระยะยาวที่เชื่อมโยงอุปสงค์ และอุปทานของตลาดเข้าด้วยกัน และให้คณะทำงานฯ ไปศึกษา วิเคราะห์สถานภาพ กฎหมาย กฎระเบียบ นโยบาย และข้อจำกัดของการจัดซื้อจัดจ้างสินค้านวัตกรรมภาครัฐ ตลอดจนข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าของระบบนวัตกรรมของประเทศ

โดยทั้งหมดนี้ จะเน้นให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกับนโยบายรัฐบาล รวมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และให้มีการรายงานความคืบหน้าต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาการพัฒนาระบบนวัตกรรมไทยใน 1 เดือนข้างหน้า

แหล่งข่าว www.thaigov.go.th/th/government-th1/item/89962-89962.html


16/02/2015 | เตชิต ชื่นประทุมทอง


ฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น https://resmd.kku.ac.th/web/
สำนักงานงานบริการวิชาการและวิจัย อาคารเวชวิชชาคาร ชั้น 2 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น